[How to] การลงสีน้ำสไตล์ญีปุ่น By Kaewsricha
How to Watercolor
By: Kaewsricha (Takkaew)
วันนี้มาทำฮาวทูสีน้ำสไตล์เราให้ดูกัน ก็ไม่เชิงฮาวทูหรอกค่ะ เหมือนเป็น Step by Step มากกว่า ^v^”
ครั้งนี้ที่นำมาแบ่งปัน เป็นแนวง่ายๆ สบายๆ ฟุ้งๆ ซึ่งเป็นแนวแรกที่เราเริ่มจับพู่กันเล่นสีน้ำเลยค่ะ >v<
มาเริ่มที่อุปกรณ์กันก่อน
1. จานสีแบบตลับ
เราใช้ยี่ห้อ i.n.c.a. เพราะเนื้อพลาสติกโอเคที่สุดสำหรับเรา แต่ก็แล้วแต่ชอบค่ะ ‘v’
2. พู่กัน
ยี่ห้อมาสเตอร์อาร์ต เบอร์ 3 และเบอร์ 6
ยี่ห้อสง่ามยุระ เบอร์ 0 สำหรับวาดคิ้วหรือรายละเอียดเล็กๆ (แต่งานนี้เราใช้วาดคิ้วอย่างเดียว =v=’)
3. ดินสอ
สำหรับงานสีน้ำ เราแนะนำดินสอไม้ เพราะถนอมกระดาษและให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า และเล่นน้ำหนักมือได้มากกว่าด้วย แต่ว่าแล้วแต่ถนัดเลยค่ะ อย่างเราก็เล่นน้ำหนักดินสอกดได้ถนัดกว่า ก็เลยใช้ดินสอกดตลอด ‘v’
4. ยางลบ
ความจริงแล้วไม่แนะนำให้ลบในงานสีน้ำ เพราะจะทำให้กระดาษช้ำและเทคเจอร์กระดาษเสีย ซึ่งส่งผลต่อการอุ้มน้ำของกระดาษด้วย แต่ว่ามันก็ต้องมีผิดมีพลาดบ้างเนอะ ถ้าต้องลบจริงๆ ก็ลบเบาๆ นะ
5. กระดาษทิชชู่
สำหรับซับพู่กันและซับสีในกรณีระบายพลาด (พอซับแล้วกระดาษจะช้ำ ระวังด้วยนะคะ)
6. แก้วใส่น้ำ
แนะนำให้มี 2 แก้ว เป็นแก้วสำหรับล้างพู่กันกับแก้วสำหรับผสมสี แต่ว่าใช้แก้วเดียวก็ได้ค่ะ แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพราะใช้ทั้งล้างพู่กันและผสมสีด้วย น้ำจะขุ่นเร็ว ถ้าไม่เปลี่ยนน้ำ เวลาผสมสี สีก็จะไม่ใสและดูหม่น
7. สีน้ำ
เราใช้ยี่ห้อ Reeves ค่ะ ซื้อมาแบบกล่อง 18 สี ราคา 275 บาท แต่ตอนนี้เหมือนราคาจะขึ้นแล้ว เป็นสีน้ำที่แป้งค่อนข้างเยอะหน่อย แต่ว่าสีสวยใช้ได้เลยค่ะ
8. กระดาษสีน้ำ Masterart Renaissance 200 gsm. แบบหยาบ
ถ้าซื้อแบบแผ่นใหญ่ จะตกแผ่นละประมาณ 20 บาท คุ้มกว่าแบบเป็นเล่มก่อนมาดู Step สีน้ำของเรา ขอแนะนำวิธีระบายเบื้องต้นสำหรับคนเริ่มหัดก่อนนะคะ
เราลงสีโดยใช้แค่ 2 วิธีนี้ค่ะ คือ Wet on dry (เปียกบนแห้ง) และ Wet on wet (เปียกบนเปียก)
Wet on dry
การลงเปียกบนแห้งคือการลงแบบทั่วไปเลยค่ะ ลงสีบนกระดาษที่ยังแห้งอยู่ตามปกติ เทคเจอร์ที่ได้ส่วนมากจะเป็นขอบคมตามพื้นที่ที่เราระบายไป วิธีนี้ถ้าอยากทำให้ฟุ้ง ให้จุ่มน้ำเปล่ามาช่วยในการเกลี่ยสีในตอนที่สีเดิมยังไม่แห้ง
Wet on wet
การลงเปียกบนเปียกคือการลงน้ำเปล่าบนกระดาษก่อนแล้วค่อยลงสีลงไปค่ะ เทคเจอร์ที่ได้จะฟุ้งๆ นุ่มๆ ระวังตอนลงน้ำเปล่าไปตอนแรกด้วยนะคะ อย่าให้น้ำเจิ่ง เอาแค่น้ำหมาดๆ ก็พอค่ะ
มาเริ่มเล่นสีน้ำกัน *ชื่อสี + ชื่อสี หมายถึงเอามาผสมกันนะคะ
สเต็ปอาจจะงงๆ ไปบ้าง เพราะเราลงข้ามไปข้ามมา ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ค่ะ TvT
1. ก่อนอื่นให้ร่างภาพก่อน อย่างที่บอกตอนต้นว่าถ้าลบมากๆ กระดาษจะช้ำ ถ้าใครมีโต๊ะไฟก็แนะนำให้ใช้เพื่อเส้นที่สะอาดและกระดาษปลอดภัยนะคะ ถ้าไม่มีโต๊ะไฟ ใช้ดินสอสีฟ้า สีเหลือง สีเทา หรือดินสอสีอ่อนๆ ร่างภาพก่อนลงเส้นจริงก็ช่วยได้ค่ะ พอระบายไปแล้วเส้นร่างเดิมจะมองไม่เห็นไปเอง แต่อย่ากดแรงนะ ในที่นี้เราร่างสดเลย เพราะไม่ชอบร่างและวาดหลายๆ รอบ ^^”
2. ใช้สี fresh tint + medium yellow สำหรับสีผิว ผสมสีให้อ่อนๆ ระบายรองพื้น
3. นำสีแดง brilliant red + orange + สีผิวที่ผสมไว้ตอนต้น มาแต้มตรงแก้มในตอนที่สีพื้นยังไม่แห้ง (เปียกบนเปียกนั่นเอง) แก้มจะได้มีเลือดฝาดฟุ้งๆ ถ้าปาดไม่ทัน ให้ค่อยๆ ใช้น้ำลูบเบาๆ ตอนที่เกือบแห้ง หรือรอแห้งเลย แล้วระบายอ่อนๆ และค่อยๆ เกลี่ยเอาก็ได้เหมือนกันค่ะ
4. ทำแบบเดียวกันนี้กับผิวส่วนอื่นๆ เน้นสีแดงอมชมพูตรงจมูก ปาก ใต้คิ้ว และช่วงไหล่ ตรงไหนที่เป็นเงาเข้มหน่อย ให้แทรกสีม่วง violet ลงไปตอนที่สียังไม่แห้ง ผิวตรงไหนที่ใกล้ๆ กับผมของตัวละคร ให้แทรกสีแดง crimson + brilliant red อ่อนๆ ด้วย (เรากำหนดให้ผมตัวละครสีแดงๆ ชมพูๆ)
5. ระบายเขา โดยใช้สีเหลือง medium yellow เจือน้ำระบายบางๆ ให้ทั่ว เว้นช่วงแสงตกกระทบไว้ และแต้มด้วยสี yellow ochre ขณะที่สียังไม่แห้ง ตบท้ายด้วยใช้สี burnt sienna และ brilliant red แต้มตรงปลายเขาและเน้นเงาไปตามแนวเขาให้เรียบร้อย ทำแบบเดียวกันนี้กับเขาอีกข้าง
6. มาระบายดอกไม้กันบ้าง ลงน้ำเปล่าที่เกสรดอกไม้ก่อน แล้วค่อยแต้มสีเหลืองและสีส้ม ทำแบบเดียวกันกับกลีบดอกไม้ เติมรายละเอียดให้ครบทุกดอก ใบไม้ที่เป็นเงาเข้มจัด ให้แต้มสีน้ำตาล burnt umber ลงไป ถ้าเป็นกลีบดอกไม้ เจือม่วงเล็กน้อย
7. มาที่โบกันบ้าง ขั้นแรกให้ระบายที่ส่วนปลายทั้งสองข้างและใช้น้ำลูบไล่ระดับเข้มอ่อนเข้าหากัน ระหว่างที่สียังไม่แห้ง ให้แต้มสีที่เข้มกว่าลงไปตรงปลายโบอีกครั้ง ระบายแบบเดียวกันกับโบส่วนอื่นๆ
8. เติมแสงเงา โดยเจือสีของเขาลงไป เจือสีม่วงตรงส่วนเงาเข้ม เป็นอันเสร็จส่วนของโบ (ยาวนาน…)
9. มาที่กระดิ่งบ้าง เริ่มด้วยลงสีเหลืองอ่อนๆ เว้นส่วนที่เป็นแสงกระทบ แตะสี yellow ochre ตรงขอบนอกที่เว้นขาวเอาไว้ เจือสีแดงของโบและสีน้ำตาล umber ลงไป ให้เน้นส่วนที่เว้นขาวไว้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำแบบนี้กับกระดิ่งส่วนอื่นและเครื่องประดับที่มีความวาววิ้งวับ
10. มาถึงส่วนของเสื้อผ้าบ้าง ลงสีเหลืองและเว้นขาวเอาไว้ เจือน้ำไล่ระดับสีให้อ่อนลง ตอนที่สียังไม่แห้ง แต้ม yellow ochre ไว้เป็นสีพื้นของผ้า แต้ม sap green ในส่วนของผ้าที่ใกล้ๆ ใบไม้ และแต้มสีแดงในส่วนที่ใกล้ดอกไม้ เจือสีเงาเข้มขึ้นด้วย burnt umber + violet ในส่วนของผ้าโพกหัวด้านหลัง
11. เก็บรายละเอียดเงาผ้า โดยการผสมสี yellow ochre ให้เข้มขึ้นและระบายทับลงไปบางๆ (ต้องรอให้สีเดิมแห้งก่อนนะ เดี๋ยวเละจ้า) เสื้อผ้าก็ทำแบบเดียวกัน
12. ส่วนของผม ให้ลงสีพื้นอ่อนสุดก่อน เว้นขาวในส่วนที่แสงเข้าตามเดิม จากนั้นไล่น้ำหนักระดับที่ 2 จากปลายผมให้เข้มขึ้น ผสมสีม่วงหรือน้ำตาล ระบายผมในส่วนที่อยู่ด้านหลังและส่วนที่ไม่ค่อยโดนแสง รอแห้ง และตกแต่งรายละเอียดตามความพอใจจ้า
13. ใช้พู่กันเบอร์เล็กระบายคิ้ว ขนตา และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บนใบหน้า จากนั้นนำมาสแกนและปรับสีในคอมฯ เล็กน้อยก็เป็นอันเสร็จ
ภาพเสร็จสมบูรณ์จ้า
cr. www.illustcourse.com/2014/08/01/how-to-watercolor-by-takkaew/
page: https://www.facebook.com/takkaew.slowly/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น